ReadyPlanet.com
dot dot
สาระความรู้ในการเลือกใช้ถุงมือ ในโรงงานอุตสาหกรรม

 

 

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรม หรือเป็นผู้ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ ถ้าอยู่ในสถานะลูกจ้างด้วยแล้ว วันนี้คุณได้รับการดูแลด้านความปลอดภัยในการทำงานเพียงพอแล้วหรือยัง ?

แทบทุกโรงงานที่ใช้เครื่องจักรกล ในการทำงานร่วมกับมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องที่ทันสมัยซึ่งควบคุมการทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์เป็นส่วนใหญ่ หรือเป็นเครื่องที่ต้องใช้คนเป็นผู้ควบคุมอยู่ตลอดเวลา ความผิดพลาดอันเนื่องมาจากการทำงานย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และนั่นก็หมายถึงอันตรายที่อาจเกิดกับผู้ปฏิบัติงานได้เช่นกัน ทั้งนี้จากสื่อต่าง ๆ ที่เสนอข่าวการได้รับบาดเจ็บ หรือถึงขั้นเสียชีวิตของพนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม โดยบรรดาสาเหตุหลาย ๆ อย่างนั้นที่เรามักจะได้ยินบ่อย ๆ ก็คือ ความประมาทของผู้ปฏิบัติงาน หรือไม่ก็ความผิดพลาดของเครื่องจักร ทั้ง ๆ ที่มีข้อบังคับ และกฎหมายสั่งให้โรงงานอุตสาหกรรมกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยให้กับพนักงานไว้อย่างดีที่สุดแล้ว

ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปติดต่องานกับโรงงานอุตสาหกรรมหลาย ๆ โรงงาน ทั้งอุตสาหกรรมเบา ไปจนถึงอุตสาหกรรมหนัก ซึ่งเมื่อเข้าไปในส่วนการปฏิบัติงานก็แอบไปสังเกตเห็นพนักงานต้องเผชิญความเสี่ยง โดยที่เจ้าตัวหรือผู้ควบคุมงานคาดไม่ถึง รวมทั้งสังเกตเห็นการละเลยในเรื่องของการป้องกันอันตรายในขณะปฏิบัติงานด้วย คราวนี้โอกาสดีจึงนำเอาประสบการณ์ พร้อมด้วยการค้นคว้าข้อมูลการป้องกันอันตรายจากการปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรมมาเสนอ

อันตรายที่อาจเกิดกับผู้ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรม ที่สังเกตพบได้ง่าย ได้แก่ อันตรายจากการสัมผัส, อันตรายจากการสูดดม (จมูก), อันตรายที่เกิดจากการมอง (ดวงตา/สายตา), อันตรายจากเสียงดัง (หู) ซึ่งทั้งหมดนี้อาจส่งผลกระทบทางด้านร่างกายได้ ตั้งแต่ในระดับการบาดเจ็บจนต้องเสียเลือดเนื้อ บาดเจ็บเรื้อรัง สูญเสียอวัยวะ ไปจนถึงเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตามเมื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงนี้ไม่ได้ สิ่งที่ดีที่สุดก็คือต้องรู้วิธีป้องกันที่ถูกต้อง และไม่ลืมที่จะต้องปฏิบัติตามด้วย

ประเภทของการบาดเจ็บที่เกิดกับมือและนิ้ว

การบาดเจ็บที่มือ หรือนิ้ว มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะ โดยที่เกิดบ่อยที่สุดก็คือ การบาดเจ็บจากการได้รับบาดแผล การบาดเจ็บอันเป็นผลมาจากการสัมผัสสารพิษ หรือความร้อน และการบาดเจ็บที่เกิดกับกระดูก ข้อต่อ

การบาดเจ็บจากการได้รับบาดแผล (Traumatic Injuries)

บาดแผลที่ได้รับมักเกิดจากการทำงาน หรือใช้เครื่องมือโดยขาดความระมัดระวัง มือ และนิ้วอาจถูกตัด ถูกทับ หรือถูกเจาะ และกรณีเลวร้ายที่สุดก็คือการถูกตัดมือ หรือนิ้วจนขาด ทั้งนี้การถูกบาด หรือถูกตัด อาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา หากถูกตัดที่เส้นประสาท หรือเส้นเอ็น หรือมีเศษวัตถุเข้าไปติดในบาดแผล จนอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้

การถูกเจาะ อาจเกิดขึ้นจากเศษวัสดุมีคมที่กระเด็นมาโดน หรือถูกส่วนที่มีความแหลมคมของเครื่องมือเครื่องจักรเจาะจนได้รับบาดแผล ทั้งนี้การถูกเจาะอาจทำให้ผิวหนัง เส้นเอ็น ตลอดจนกระดูก ได้รับความเสียหาย และยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายด้วย

 การบาดเจ็บที่เกิดจากการสัมผัส (Contact injuries)

การบาดเจ็บลักษณะนี้มีผลมาจากการสัมผัสเข้ากับสารทำละลาย, กรด, ของเหลวติดไฟ ตลอดจนวัสดุอื่น ๆ ที่สามารถเผาไหม้ผิวหนังได้ ทั้งนี้หากเป็นสารเคมีก็อาจทำให้เกิดการตอบสนองทางโรคทางผิวหนังในทันที เช่น อาการคัน เกิดแผลพุพอง หรือหากเป็นการสัมผัสวัตถุที่มีความร้อนสูง หรือเย็นจัด ก็จะได้รับการบาดเจ็บได้

การบาดเจ็บซึ่งเกิดผลการสะสม (Carpal tunnel syndrome)

เป็นอาการปวดที่มือ และนิ้ว เนื่องจากการถูกแรงกดบนเส้นประสาท อันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวมือ และนิ้วซ้ำ ๆ จุดเดิมเป็นเวลานาน ๆ อาการที่แสดงออกนี้อาจทำให้ไม่สามารถขยับมือ และนิ้วได้เป็นเวลานาน รวมทั้งอาการที่แสดงออกว่าผู้ปฏิบัติงานรู้สึกผิดปกติ เช่น อาการบวม, อาการชาบริเวณมือ และนิ้ว และอาการมึนงง ตาลาย

 

การป้องกันอันตรายที่เกิดกับมือและนิ้ว

ในกระบวนการทำงานของโรงงานอุตสาหกรรม การสัมผัสน่าจะมีโอกาสสูงที่สุดที่จะทำให้ได้รับอันตราย หรือบาดเจ็บมากที่สุด เพราะเราจะต้องใช้มือทำงาน ไม่ว่าจะต้องหยิบจับชิ้นงาน หรือควบคุมเครื่องจักร และอันตรายที่เกิดจากการสัมผัสก็ได้แก่ การสัมผัสสารเคมี/ของเหลวที่เป็นพิษ, การสัมผัสกับความร้อนสูง, การถูกเครื่องจักรหนีบ/ทับ หรือตัด, การสัมผัสกับกระแสไฟฟ้าแรงสูง และการสัมผัสกับรังสีที่เป็นพิษ เป็นต้น ในขั้นต้นของหลักการด้านความปลอดภัยก็คือ การหลีกเลี่ยงจุด หรือบริเวณที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่าง ๆ นี้

การเรียนรู้เพื่อการป้องกันมือ และนิ้วให้ปลอดภัยจากการทำงาน จึงเป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานควรให้ความสนใจ ทั้งนี้มีแนวทางสำคัญ 5 อย่างเพื่อการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการสัมผัสด้วยมือ ดังนี้

1. การควบคุมทางวิศวกรรม : อุปกรณ์ป้องกัน อย่างเช่น แผงกั้นเครื่องจักร หรือกระจกนิรภัย ถือเป็นวิธีการป้องกันทางวิศวกรรม และเป็นการป้องกันชั้นแรก เพราะอันตรายมักเกิดขึ้นที่จุดปฏิบัติงานหน้าเครื่องจักร ยกตัวอย่างเช่น

- การสัมผัสส่วนมีคมของเครื่องจักร เช่น เครื่องตัดด้วยใบเลื่อย, เครื่องเจาะ หรือสเก็ดโลหะจากเครื่องกลึง เป็นต้น

- การถูกเครื่องปั๊ม เครื่องตอก หนีบทับมือ นิ้ว ด้วยแรงกดสูง

- การสัมผัสเข้ากับ เพลา หรือแกนหมุนซึ่งกำลังหมุนอยู่ด้วยความเร็วสูง

- การสัมผัสเข้ากับเครื่องจักรที่มีอุณหภูมิสูงขณะทำงาน เช่น เครื่องจักรไอน้ำ, หม้อต้มความดันสูง หรือวาล์วไอน้ำความดันสูง เป็นต้น

อุปกรณ์ป้องกันควรได้รับการติดตั้งที่เครื่องจักร ในจุดที่มือของผู้ปฏิบัติงานมีโอกาสจะไปสัมผัสได้ หรือส่วนของเครื่องจักรอาจเคลื่อนที่มาโดนได้ ในทำนองเดียวกัน การออกแบบอุปกรณ์ป้องกันก็ต้องแน่ใจได้ว่าจะไม่มีโอกาสที่มือ หรือนิ้วจะได้รับอันตรายได้ อย่างไรก็ตามยังคงต้องคำนึงถึงความสะดวกในการซ่อมบำรุงเครื่องจักรด้วย เพราะเหตุการณ์ที่มักเกิดขึ้นก็คือ อุปกรณ์ป้องกันถูกถอดออก เพื่อการซ่อมบำรุง แต่ไม่มีการใส่เข้าไปไว้เหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถใส่อุปกรณ์ป้องกันได้ทุกกรณีไป เพราะอุปกรณ์ป้องกันอาจบดบังการทำงานของเครื่องจักร หรืออาจทำให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานไม่สะดวก หรือด้วยเหตุผลอื่นใดก็ตาม ดังนั้นทางเลือกหนึ่งก็คือการใช้เซนเซอร์ตรวจจับ เพื่อให้ส่งสัญญาณเตือนเมื่อมีใครเข้าใกล้จุดอันตราย นอกจากนี้ในบางงานก็อาจออกแบบระบบเสริมใหม่เพื่อลดความเป็นไปได้ที่มือ หรือนิ้วจะได้รับบาดเจ็บ เช่น การออกแบบระบบป้อนวัสดุอัตโนมัติแทนการใช้มือป้อน เป็นต้น

2. การให้ความรู้-ฝึกอบรม ผู้ปฏิบัติงานควรทำความเข้าใจถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากการปฏิบัติงาน และจัดให้มีส่วนของการตรวจสอบด้านความปลอดภัยอยู่ในส่วนหนึ่งของงานที่ต้องทำทุก ๆ วัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องจักรบางชนิดซึ่งต้องดูแลเอาใจใส่อยู่เสมอเพื่อให้คงสภาวะด้านความปลอดภัยอยู่เสมอ การขาดความใส่ใจ จึงมักเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้มีหลักการตัวอย่างซึ่งสามารถนำไปใช้เพื่อให้ความรู้ และฝึกอบรมให้กับผู้ปฏิบัติงานเพื่อป้องกันการได้รับอันตรายจากการทำงานดังนี้

  • จุดที่ติดตั้งแผงกั้นนิรภัยของเครื่องจักร เป็นจุดอันตราย ควรหลีกเลี่ยงไม่เข้าใกล้

  • ไม่ควรสวมแว่นตา สร้อยข้อมือ หรือนาฬิกาหลวม ๆ ในขณะที่ต้องทำงานหน้าเครื่องจักร

  • ใช้ด้ามไม้ หรือก้านโลหะ เป็นตัวช่วยป้อนวัสดุให้กับเครื่องจักรแทนการใช้มือ

  • ไม่ยื่นมือ หรือนิ้วเข้าไปใกล้ส่วนของเครื่องจักรที่กำลังเคลื่อนที่

  • เมื่อต้องทำการตัดวัสดุ ให้หันคมมีดออกนอกตัว

  • ใช้แปรงปัดเศษวัสดุที่มีความแหลมคม เช่น เศษโลหะ หรือเศษไม้ แทนการใช้มือ

  •  เมื่อจะหยิบจับชิ้นงาน หรือวัสดุใด ให้ตรวจสอบส่วนปลายแหลม หรือส่วนที่มีคม ซึ่งอาจโดนมือได้

  • เลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับงาน, ใช้งานให้ถูกประเภทเครื่องมือ และตรวจสอบสภาพของเครื่องมือว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน ก่อนหยิบไปใช้

  • จัดเก็บเครื่องมือให้เป็นระเบียบ โดยไม่วางส่วนที่มีคมออกด้านนอก

  • เมื่อจะทำงานกับสารเคมี ต้องอ่านคู่มือความปลอดภัยบนบรรจุภัณฑ์ของสารเคมีนั้น ๆ ก่อน

3. ใช้ถุงมือป้องกัน อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Grove) เป็นเครื่องมือป้องกันไม่ให้มือ และนิ้วได้รับบาดเจ็บ โดยถุงมือป้องกันเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด สำหรับการป้องกัน แต่ถ้าใช้ไม่ระวังถุงมือก็อาจทำร้ายผู้สวมได้ ยกตัวอย่างเช่น ถุงมือที่ขาดชำรุด อาจพันติดเข้ากับเครื่องจักรแล้วดึงมือผู้ปฏิบัติงานเข้าไปได้ เช่น สว่านเจาะ, เครื่องใส หรือเครื่องกลึง เป็นต้น หรือเมื่อต้องทำงานซึ่งสัมผัสกับความร้อนสูง ๆ แต่เลือกใช้ถุงมือซึ่งมีความสามารถในการทนความร้อนได้ไม่ครอบคลุมกับงานที่ทำ เมื่อใช้งานนาน ๆ ไประดับการป้องกันของถุงมือก็จะลดน้อยลง นั่นหมายถึงถุงมือกำลังเสื่อมสภาพ และอาจทำให้ผู้ใช้ได้รับการบาดเจ็บได้

ถุงมืออุตสาหกรรม (Industrial Groves) ถูกนำมาใช้ ในจุดประสงค์เพื่อการป้องกันให้กับผู้ปฏิบัติงาน และยิ่งในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีของวัสดุวิศวกรรมช่วยทำให้เกิดถุงมือป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูง และได้รับการออกแบบสร้างมาให้เหมาะกับงานเฉพาะด้าน ดังนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่วันนี้เราจะหันมาสนใจเลือกใช้ถุงมือชนิดต่างๆ ให้เหมาะกับประเภทงานและการป้องกัน ?

ถุงมือป้องกันบางชนิดมีอายุการใช้งานเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ หรือเป็นแบบใช้ครั้งเดียวแล้วต้องเปลี่ยนใหม่ การนำกลับมาใช้ใหม่จึงอาจไม่สามารถรักษาระดับการป้องกันได้เท่าเดิม เช่น ถุงมือที่ใช้ป้องกันสารเคมี เมื่อใช้ไปนาน ๆ โอกาสที่สารเคมีทำปฏิกิริยากับถุงมือก็เกิดขึ้นได้ เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนจึงควรเปลี่ยน

ปัจจุบันมีการผลิตถุงมือป้องกันออกมาใช้สำหรับงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากมายหลายชนิด เช่น ถุงมือผ้าฝ้าย, ถุงมือหุ้มหลายชั้น, ถุงมือหนัง, ถุงมือป้องกันสารเคมี, ถุงมือป้องกันงานตัด, ถุงมือป้องกันความร้อน, ถุงมืองานเชื่อม และถุงมือสำหรับขับรถ เป็นต้น การเลือกใช้ถุงมือที่เหมาะสม จะต้องเริ่มจากการวิเคราะห์ความต้องการใช้ในสภาพการทำงาน เพราะถุงมือแต่ละชนิดผลิตจากวัสดุที่มีคุณสมบัติในการทนทานต่ออันตราย และต้านทานสารพิษต่างกัน ถุงมือป้องกันที่ดีก็ควรจะสามารถทนทานต่อสารพิษหลาย ๆ อย่างได้ และการเลือกถุงมือแบบอเนกประสงค์มาใช้ก็ยังช่วยลดต้นทุนขององค์กรได้ อย่างไรก็ตามไม่มีถุงมือชนิดใดที่สามารถทนทานต่อสารเคมี หรือสารพิษทุกชนิดได้ เรายังคงต้องเลือกใช้ถุงมือให้เหมาะกับงานที่ต้องการมากที่สุด ดังนี้

  •  งานจับต้องวัสดุร้อนสูง/เย็นจัด : เมื่อต้องทำงานกับความร้อนสูง หรือเย็นจัด จะต้องเลือกใช้ถุงมือที่เป็นฉนวนกั้นความร้อน หรือความเย็น ซึ่งเรียกว่า Isolated Groves นอกจากนี้หากมีโอกาสที่จะต้องสัมผัสกับเปลวไฟก็จะต้องใช้ถุงมือประเภทผ้าทอ หรือวัสดุสังเคราะห์ต้านไฟ (Fire Retardant Fabric) หรือในขั้นที่ต้องทำงานอยู่ท่ามกลางแหล่งกำเนิดความร้อนสูง ก็จะต้องเลือกใช้ถุงมือประเภทสะท้อนความร้อนได้ โดยถุงมือหนัง มีประสิทธิภาพดีกับงานที่ต้องสัมผัสพื้นผิวซึ่งมีความร้อน ส่วนถุงมือผ้าฝ้าย และผ้าทออื่น ๆ ก็สามารถใช้ในงานที่ความร้อนสูงไม่มากนัก หรืองานที่ต้องสัมผัสความเย็นระดับปานกลาง เป็นต้น

  • งานไฟฟ้า : เมื่อต้องทำงานซึ่งมีโอกาสสัมผัสส่วนที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน ถุงมือที่ใช้จะต้องมีคุณสมบัติความเป็นฉนวนที่ดีเพียงพอ โดยถุงมือยางหุ้มฉนวนก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่นำมาใช้ได้

  • งานจับต้องวัสดุมีคม : ผู้ที่จะสามารถหยิบจับวัสดุมีคมควรสวมถุงมือ ประเภทป้องกันของมีคม และการตัดได้ หรือที่เรียกว่า Cut Resistant Glove ซึ่งโดยทั่วไปจะผลิตมาจากเส้นใยโลหะถัก (Metal Mesh)

  • งานจับต้องวัสดุมีคุณสมบัติกัดกร่อน : ลักษณะงานแบบนี้จะต้องเลือกใช้ถุงมือที่ทำมาจากวัสดุประเภทยางสังเคราะห์ (Neoprene) หรือวัสดุประเภทสารประกอบอินทรีย์ (Nitrile)

  • งานจับต้องวัสดุที่มีความลื่น : จะต้องเลือกใช้ถุงมือที่ทำจากผ้าฝ้าย หรือผ้าทออื่น ๆ

  • งานจับต้องสารเคมี : จะต้องเลือกใช้ถุงมือให้ถูกประเภทกับชนิดของสารเคมี ทั้งนี้ถุงมือที่เลือกใช้จะต้องไม่ทำปฏิกิริยากับสารเคมี อันเป็นสาเหตุให้เกิดอันตรายขึ้น เช่น เกิดก๊าซพิษ หรือการกัดกร่อนถุงมือ เป็นต้น

ถุงมือหนัง (Leather Gloves) : ถุงมือชนิดนี้ทำมาจากหนังสัตว์ หรือหนังฟอก ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานที่ต้องหยิบจับซึ่งต้องการความทนทานในระดับกลาง เช่น งานไม้ การหยิบจับกระเบื้อง หรือแก้ว ไปจนถึงงานที่ต้องการความทนทานสูง แต่จะไม่สามารถป้องกันสารเคมีได้

ถุงมือผ้า/ผ้าฝ้าย (Cloth/Cotton Gloves) เป็นถุงมือที่ทำจากผ้า และผ้าฝ้าย มีความหนาของชั้นผ้าแตกต่างกันตามความต้องการสำหรับใช้งาน ถุงมือประเภทนี้ออกแบบมาเพื่อใช้ในงานหยิบจับทั่วไป และงานเบา ไม่เหมาะใช้ในงานอุตสาหกรรมหนักที่ต้องการความทนทานสูง และที่สำคัญจะไม่ใช้เพื่อป้องกันสารเคมี

ถุงมือป้องกันความร้อน : ถุงมือที่ต้องทนความร้อนโดยส่วนใหญ่จะทำจากเส้นใยโลหะ เช่น อลูมิเนียม และมักนำเอาแผ่นโลหะเคลือบโครเมียมมาบุที่ชั้นนอกด้วย เพื่อสะท้อนความร้อนออกจากถุงมือ นอกจากนี้ถุงมือป้องกันความร้อนอาจผลิตมาจากวัสดุสังเคราะห์อื่น ๆ และผ้าลินินหลายชั้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับราคาด้วย

ถุงมือที่ทำจากยางสังเคราะห์ (Neoprene Groves) ออกแบบมาเพื่อการต้านทานต่อสารเคมี, น้ำมัน, กรด, สารกัดกร่อน รวมทั้งสารทำละลาย สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้ถุงมือประเภทนี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี, อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมผลิตสารเคมีต่าง ๆ

ถุงมือแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Disposable Groves) ถุงมือประเภทนี้ส่วนใหญ่ทำจากยางธรรมชาติ หรือยางสังเคราะห์ มีความบาง แต่ยืดหยุ่นสูง เพื่อช่วยลดแรงตึง และความเมื่อยล้าของผู้สวมใส่ และแม้จะเป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่ก็มีความทนทานสูง และยังมีข้อกำหนดจากหน่วยงานด้านความปลอดภัยนานาชาติให้ต้องสามารถทนต่อสารเคมีชนิดต่าง ๆ ได้ด้วย และอุตสาหกรรมที่ใช้ถุงมือประเภทนี้มากก็คือ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมทางการแพทย์


 




เกี่ยวกับความปลอดภัย

กฎระเบียบความปลอดภัยในการทำงานของผู้รับเหมา
การประเมินความเสี่ยง และ ความปลอดภัยในโรงงาน article
ความสำคัญของอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล และการนำไปใช้ article
คู่มือความปลอดภัย



dot
หมวดหมู่สินค้าของเรา
dot
bulletลงประกาศซื้อ-ขายฟรี
bulletอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล(Protection Devices)
bulletเคมีภัณฑ์ (Chemical Products)
bulletสินค้าสำหรับโรงงาน(Products for the factory)
dot
รวมลิงค์เว็บเพื่อนบ้าน
dot
dot
Newsletter

dot


facebook
หน้ากากอนามัย
เอี๊ยมพีวีซี
ถุงมือแพทย์
ืถุงมือยางไนไตรสีฟ้า
เข็มขัดพยุงหลัง
รองเท้าบูท


Copyright © 2011 All Rights Reserved.